Thursday, 25 September 2008

อาเต๊ฟ โซ๊ะโกะ สนนท. ในยุคการเมืองหลากสี

ว่ากันว่า...วัยหนุ่มสาว เป็นช่วงวัยที่มีพลังมากที่สุด คนวัยนี้ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าสิ่งนั้นเกิดจากความตั้งใจจริงของเขาเอง ก็จะประสบผลสำเร็จลุล่วงไปได้ อาจเป็นเพราะความเชื่อมั่น บวกพลังศัทธาอันแรงกล้า ทำให้คนวัยหนุ่มสาวสามารถทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มเปี่ยม และถ้าหากคนหนุ่มสาวที่รวมพลังกัน ต้องการเรียกร้องหาความยุติธรรม เรียกร้องหาเสรีภาพ และความเท่าเทียมนำไปสู่การปลี่ยนแปลงทางสังคม สังคมก็จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความงดงาม มีบทพิสูจน์มากมายในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519

...พลังที่มิอาจทัดทาน ของ “เขา” และ “เธอ” จึงถูกร่ำร้องหา จากสังคมมาทุกยุคสมัย...

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน กลุ่มคนหนุ่มสาวจำนวนมากได้ออกมาเคลื่อนไหวให้สังคมรับรู้ว่า พลังของนักศึกษานั้นมีอยู่จริง แม้จะยังเป็นที่คลางแคลงใจของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ว่า พวกเขาเหล่านั้นออกมาด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างแท้จริงหรือไม่? หรือเพียงแต่เป็นค่านิยมตามกระแสม็อบ เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็นับว่าน่าเป็นห่วงบ้านเมืองไทย เพราะหากคนวัยหนุ่มสาวที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมในอนาคต ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างฉาบฉวย พลังอันบริสุทธิ์ก็อาจถูกแทรกแซงจากผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมืองโดยง่าย ความสนใจทางการเมือง ประสบการณ์ และมุมมองจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับคนวัยนี้ที่ได้เรียนรู้อย่างแท้จริง

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เป็นองค์กรประสานงานจากตัวแทนของนักศึกษาจากองค์กรต่างๆ หลากหลายสถาบัน ประกาศตัวชัดเจนตลอดมาว่า พวกเขาคือพลังนักศึกษาที่บริสุทธิ์ไม่ได้อยู่ภายใต้ขั้วอำนาจใดๆ ไม่ว่าองค์กรทางการเมือง หรือกลุ่มเอ็นจีโอ การเคลื่อนไหวในแต่ละครั้งเป็นการระดมความคิดเห็นในแง่มุมของนักศึกษา ที่อยากมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์สังคม โดยประเด็นต่างๆ ที่นักศึกษากลุ่มนี้เคลื่อนไหว ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเมืองเพราะมาจากแนวคิดที่ว่า “สังคมถูกกำหนดโดยนโยบายจากทางการเมือง”

โดยล่าสุดใน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เพิ่งมีการประชุมสมัชชาประจำปี เพื่อสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา และ นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก นักศึกษา คณะรัฐศาสต์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้รับการลงมติจากที่ประชุมให้เป็นเลขาธิการฯ คนใหม่

เมื่อเป็นองค์กรนักศึกษาและเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดมา ผนวกกับปัญหาทางการเมืองหลากสีในปัจจุบัน ตำแหน่งเลขาธิการฯ จึงอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างกดดัน แต่จากการทำกิจกรรมนักศึกษา และอยู่ในกลุ่มสายเคลื่อนไหวมาโดยตลอด อาเต็ฟ โซ๊ะโก จึงเข้าใจปัญหาการเมืองไทยเป็นอย่างดี

เดิม “อาเต็ฟ” เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก่อนจะย้ายมาศึกษาที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะเล็งเห็นว่าการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเปิด น่าจะมีอิสระ และเสรีภาพมากยิ่งกว่ากิจกรรมที่ทำอยู่ในขณะนั้น (ในตำแหน่งเลขานุการชมรมนักศึกษามุสลิม และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการซูรอ) โดยฐานคิดสำคัญที่อยากทำงานกิจกรรมนักศึกษามาจากครอบครัว

“ผมว่ามีนักศึกษาสนใจทำกิจกรรมเยอะนะ แต่ส่วนใหญ่ ก็แค่อยากมีประสบการณ์ คนสนใจงานเคลื่อนไหวจริงๆ มีน้อย และตอนนั้นผมรู้สึกว่ากิจกรรมที่ทำอยู่มันไม่ใช่ตัวเรา ... เลยอยากมาเรียนรามฯ

ตอนแรกแค่มาลงทะเบียนไว้นะ พอมาเรียนจริงๆ ก็รู้สึกดี รู้สึกว่ามีอะไรหลายอย่างที่อยากจะทำ ตอนนี้ก็ได้ทำไปแล้วในบางส่วน ได้ฟังความคิดเห็นของเพื่อนๆ ที่หลากหลายขึ้น ได้แตะปัญหาสังคมอย่างจริงจัง ผ่านกิจกรรมในชมรม จริงๆ ที่บ้านก็มีส่วนนะ พ่อเป็นกำนันเห็นพ่อทำงานมาตลอด ใครเป็นอะไรก็ได้ช่วยเหลือกันก็ไม่ได้มองว่าการทำกิจกรรมเป็นเรื่องที่ยาก ลำบากอะไร ผมว่ามันคุ้นเคยมากกว่า”

กิจกรรมในชมรมนักศึกษามุสลิม ซึ่งมีเครือข่ายในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่อาเต็ฟเริ่มเข้ามาเรียนรู้การทำงาน จนต่อมาได้รับตำแหน่งเลขาธิการเครือข่ายนิสิตนักศึกษามุสลิม (คนท.) จากการรวมตัวของนักศึกษาเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยมีการจัดงานเสวนาที่มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี เมื่อกลางปี 2550 จนนำไปสู่เหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2550 โดยมีประชาชน และตัวแทนนักศึกษาจากหลายสถาบันเข้าร่วมการชุมเป็นจำนวนมาก และรวมตัวกันก่อตั้ง เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (พปช.) ขึ้น

หลังจากเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ไม่นานวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารชุดเฉพาะกิจใน อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส โดยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับนักศึกษาที่ถูกจัดตั้งโดยขบวนการก่อความไม่ สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“คือเป็นหมายมาจาก พรก. ฉุกเฉิน คือ แค่สงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางภาคใต้ ก็จับกุมได้ โดยมีสาเหตุมาจากการชุมนุมที่มัสยิสกลาง ตอนถูกจับ... ผมเครียดนะ ในใจเรียกหาแต่แม่ แต่พอเรามองเห็นชาวบ้าน ผู้ต้องสงสัยที่ถูกขังรวมกัน แววตามันหดหู่นะ เราก็รู้สึกว่าเราเป็นนักศึกษาเราต้องเข้มแข็งกว่า คือการเป็นนักศึกษาที่ 3 จังหวัดชายแดนมันมีความหมายสำหรับชาวบ้านมากเพื่อเป็นหลักให้พวกเขาได้พักพิง ให้กำลังใจชาวบ้าน ตอนนั้นถูกขังรวมกัน 7 คนครับ

ถูกปล่อยออกมา เพราะกลุ่มเพื่อนๆ ได้ช่วยเหลือกันยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังที่ต่างๆ คณะกรรมการสิทธิ์ มูลนิธิต่างๆ ให้เกิดแรงกดดันเจ้าหน้าที่รัฐ... แต่ในนั้นก็ได้สอนอะไรเราหลายอย่าง เข้าใจสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนมากขึ้น ว่าบางทีเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เข้าใจพื้นที่สักเท่าไหร่ แต่เดิมคิดว่า เป็นแค่ระดับปฏิบัติการเท่านั้น ที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมในพื้นที่ แต่เอาเข้าจริง ระดับบนบางคนก็ไม่ได้เข้าใจ สั่งการต่างๆ บนพื้นฐานของความไม่เข้าใจ จึงไม่แปลกใจที่เหตุการณ์ยังคงไม่สงบจนถึงทุกวันนี้”

เหตุการณ์การชุมนุมที่มัสยิสกลาง จนกระทั่งถูกจับกุมในครั้งนั้นทำให้ อาเต็ฟ ได้แลกเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองหลายอย่าง ได้เรียนรู้วิธีการทำงานจากกลุ่มนักศึกษาต่างกลุ่ม ต่างสถาบัน และทำให้ได้รู้จักกับองค์กรที่มีชื่อว่า สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และได้ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด

“ผมมองว่า สนนท. เป็นองค์กรนักศึกษา ที่ยังบริสุทธ์อยู่นะ ปัจจุบันองค์กรนักศึกษามีเยอะ ส่วนใหญ่ก็มักถูกแทรกแซงจากองค์กรต่างๆ เพื่อให้โน้มเอียงไปตามทิศทางที่กลุ่มต้องการ แต่สหพันธ์นิสิตนักศึกษายังมีอุดมการณ์ทางสังคม โดยปราศจากการครอบงำของหน่วยงานอื่นๆ อยู่

แต่พอมาทำงานจริงๆ มันก็มีอุปสรรคเยอะเหมือนกันนะ กดดันคนทำงานมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันสังคมมักจะตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ค่อยมีนักศึกษามาทำกิจกรรม ผมเองก็เห็นด้วยที่คนทำกิจกรรมน้อยลง ปัญหาใน สนนท. ก็ไม่ต่างจากองค์กรอื่นๆ มากนัก กดดันคนทำงาน ไม่ว่าสภาพสังคมภายนอก หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ภายในองค์กรตนเอง ปัญหาหลักๆ คือ ขาดคนทำงาน”

อาเต็ฟ มองว่านักศึกษาส่วนใหญ่สนใจการเรียนมากกว่าการทำกิจกรรมอยู่แล้วเพราะเป็นเรื่องของอนาคต อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ได้ส่งเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรมเท่าที่ควร เพราะถ้านักศึกษามีความเข้มแข้ง และสนใจทางด้านการเมือง ก็จะมาตรวจสอบ และอาจเป็นขวากหนามการทำงานของรัฐบาลได้ ทำอย่างไรให้องค์กรนักศึกษาหมดไป กลายเป็นนักศึกษาที่เก่ง เชื่อง และควบคุมได้ง่าย

ส่วนการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้การทำงานขององค์กรนักศึกษาสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง คือการหนุนเสริม องค์กรฐาน (องค์กรสมาชิก) ที่ทำเรื่องปัญหาสังคมอยู่แล้ว แต่อาจขาดปัจจัยต่างๆ เช่นการประสานงานสื่อ ฯลฯ ให้ความช่วยเหลือกันไป เพื่อองค์กรนักศึกษาตามภูมิภาคเติบโต อย่างเข้มแข็ง การเคลื่อนไหว บรรลุเป้าหมาย น่าเชื่อถือ ชอบธรรม และไม่ใช่ความต้องการของคนแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ส่วนการเป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีส่วนทำให้คิดหนักในเรื่องการรับตำแหน่ง

“เราเป็นคนมุสลิม มันเหมือนกับว่าจะเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ ได้รึเปล่า โดยเฉพาะการเป็นผู้นำนักศึกษาจะมันจะดูไม่ดีรึเปล่า เขาจะยอมรับเรารึเปล่า แต่ก็มีเพื่อนๆ ให้กำลังใจเยอะมากว่าเป็นการยกระดับการทำงานขององค์กรนักศึกษา การร่วมงานกันที่หลากหลายไม่ได้จำกัดความเชื่อเรื่องศาสนาหรือแนวคิดแต่อย่างใด”

ในวาระที่เป็นเลขาฯ การทำงานก็ไม่ได้มุ่งเข็มลงภาคใต้เพียงอย่างเดียว เราทำเรื่องอื่นๆ ไปด้วย ตลอด 1 ปีนับจากนี้คงเป็นช่วงพิสูจน์การทำงานครับ

“แม้จะเป็นมุสลิมแต่บ้านไม่เคยสอนให้เรารักมุสลิม มากว่าพุทธ หรือ รักมลายูมากกว่าไทย แต่สอนให้รักมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน”

สาเหตุที่สมาชิกส่วนใหญ่เทคะแนนเสียงลงมาให้หนุ่มมุสลิมคนนี้ เนื่องจากคุณสมบัติข้อโดดเด่นคือ ความสุขุม รอบคอบ และท่าทีที่ประณีประนอม โดยเสียงจากสมาชิกท่านหนึ่งบอกว่า “เลขา สนนท. ไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ต้องการคนที่ทำงานกับคนอื่นๆ ได้ เพราะปีนี้จะเน้นภาพการประนีประนอม และประสานงานกันมากขึ้น” ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้ง การเร่งเชื้อไฟ จึงไม่ใช่คำตอบ

ส่วน อาเต็ฟ เปิดเผยว่า แม้จะรู้สึกเครียดในช่วงแรก แต่เมื่อมองว่า เพื่อนๆ สมาชิกให้ความไว้วางใจก็จะทำหน้าที่ตลอดวาระให้ดีที่สุด และดีใจที่ทุกวันนี้ยังได้เห็นคนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม แม้แนวคิดจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่อยากให้ทุกคนในสังคมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน


ทีมงาน ThaiNGO
มูลนิธิกองทุนไทย
webmaster@thaingo.org

24 กันยายน 2551

No comments: